GuavaRead 02; Why Grow Up? เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด

guavalin
2 min readJun 29, 2022

--

เราต้องใช้ความกล้าหาญมาก ๆ ในการยอมรับว่า ทั้งเรื่องในอุดมคติและเรื่องจริงที่พบจากประสบการณ์ ต่างก็หลอมรวมเป็นเราทั้งคู่นั่นแหละ

ช่วงปิดเทอมซัมเมอร์ก่อนจะขึ้นปี 4 หัวข้อเรื่องการเติบโตเป็นผู้ใหญ่เริ่มถาโถมเข้ามาในใจตลอดเวลา ทั้งเรื่องฝึกงาน ทั้งคำถามว่าเรียนจบแล้วไปไหนต่อดี เวลาว่างสามสี่วันกับทริปพักผ่อนใจที่อุดรจึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับการหยิบหนังสือสักเล่มที่ชวนเรามาตอบคำถามที่ทุกเจอน่าจะเจอเหมือน ๆ กันผ่านความคิดของเหล่าปรัชญา

หนังสือ Why Grow Up? เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด แปลโดย โตมร ศุขปรีชา

Why i read this book?

— เราเล็งหนังสือเล่มนี้ไว้นานมาก แต่เหมือนชีวิตการเป็นนิสิตคอยกดดันให้เราเลือกหยิบแต่เฉพาะ non-fiction book ที่เนื้อหาหนัก ๆ และต้องเกี่ยวข้องกับวิชาเรียนขึ้นมาอ่านเท่านั้น จนกระทั่งความเครียดเริ่มกระทบต่อสุขภาพใจ และอีกอย่างเราเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงเคยมีความคิดนึงที่แวบเข้ามาในหัวเหมือนกันว่า อยากลาออกจากการเป็นตัวเอง หรือไม่ก็ ทำไมเส้นทางการเติบโตของเราช่างลำบาก/เหน็ดเหนื่อยเสียเหลือเกิน การอ่านหนังสือซึ่งเป็นเหมือน comfort zone ของเราจึงกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการไขปัญหานี้

สารภาพก่อนว่าตอนแรกก็ไม่ได้หวังว่าเนื้อหาของเล่มนี้จะสนุกอะไรมากนัก คิดว่าเนื้อหาน่าจะออกมาคล้ายกับหนังสือพัฒนาตัวเองที่พยายามบอก “ให้เราใจดีกับตัวเอง (ซึ่งเราไม่ค่อยชอบอ่านแนวนี้เท่าไหร่) อีกอย่างคือกลัวว่าเล่มนี้จะอ่านยากด้วย ก่อนหน้านี้เคยพยายามอ่าน On Ethics and Economics ที่สำนักพิมพ์ Salt ตีพิมพ์ถึง 2 รอบแล้วรู้สึกว่ายาก แต่พออ่านแล้วรู้สึกว่าเนื้อหาเล่มนี้กลับรู้สึกเป็นหนังสือให้แง่มุมได้ลุ่มลึกกว่าหนังสือ How to ทั่วไป เหมือนเป็นการออกผจญภัยพร้อมกับผู้เขียนในการอ่านความคิดของนักปรัชญาแต่ละยุคสมัยที่มีต่อวัยก้าวผ่าน หรือ Coming Of Age ทำให้เนื้อหาที่ออกมานั้นค่อนข้างสนุก ไม่หนักจนเกินไป ไม่เบาจนเกินไป กำลังกลมกล่อมสำหรับเรา

ก่อนจะเข้าสู่ช่วงขายของ ถ้าใครกังวลว่าเนื้อหาปรัชญาจะหนักเกินไปรึเปล่า เราในฐานะคนได้ ‘เกรด D วิชาปรัชญาพื้นฐาน’ ขอรับประกันเลยว่าอ่านรู้เรื่องแน่นอน!

Why you should too?

— คอนเซปต์หลักของหนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นการพยายามบอกผู้อ่านว่า ความเจ็บปวดจากการเติบโตของมนุษย์ก็คือความผิดหวังที่เราไม่อาจได้รับ/อยู่อาศัยในโลกที่พึงจะเป็นในอุดมคติของเรา พูดง่าย ๆ ก็คือ ชีวิตคนเรานั้นไม่อาจเป็นไปได้อย่างใจเรานึกตลอดเวลา ความน่าสนใจของการเล่าความผิดหวังในชีวิตนี้ผ่านมุมมองนักคิดปรัชญานั้นน่าสนใจตรงที่วิชาปรัชญานั้น หากใครเคยศึกษามาบ้างก็จะพอเห็นว่าหลาย ๆ แนวคิดหรือทฤษฎีเกิดขึ้นจาก Thought Experiment หรือการทดลองทางความคิด เราจะได้เห็นการทดลองความคิดของคนต่าง ๆ ที่มีต่อการเติบโตของมนุษย์

หนังสือเล่มนี้ได้เริ่มต้นจากการตรวจสอบแนวคิดที่มีต่อ ‘การกำเนิดของเด็กทารก’ โดยมุมมองของนักปรัชญาที่เราชอบมากที่สุดในพาร์ทก็เป็น ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการเกิดของมนุษย์คนนึงมาพร้อมกับความคาดหวังที่ว่าเด็กคนนั้นจะเติบโตขึ้นและกลายเป็นโอกาสใหม่ ๆ ของครอบครัวและสังคมในการสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่พัฒนาก้าวหน้ามากไปกว่าสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าได้ปูทางเอาไว้ให้แล้ว ส่วนนี้เองก็ได้ช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่าแท้จริงแล้วคนเราเกิดมาพร้อมกับคุณค่าบางอย่างที่เปรียบเหมือนการตั้งค่าหรือ setting มาจากโรงงานแล้วว่าทุกคน ควรจะ do better กว่าคนรุ่นก่อน อย่างไรก็ดี หากมองในแง่มุมนึงก็อาจรู้สึกถึงแรงกดดันที่หนักแน่น แต่ในอีกแง่ก็มองเห็นถึงศักยภาพในตัวมนุษย์ที่จะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในสังคม อาเรนท์ได้ชี้ให้เห็นส่วนนี้ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับความสร้างสรรค์ หรือ creativeness

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเราอาจคิดติดตลกว่า ‘วัน ๆ นึงเราไม่เห็นอยากจะทำอะไรเลย แล้วอะไรคือศักยภาพของเรากันล่ะ’ ผู้เขียนก็ได้อธิบายต่อไปอีกว่าแท้จริงแล้วศักยภาพของมนุษย์ก็คือความสามารถในการนึกคิดได้เอง มีแรงปรารถนาที่จะตัดสินใจเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเส้นทางชีวิตตัวเองนี่แหละ แต่สังคมกลับหล่อหลอมให้เรากลายเป็นคนที่ขี้เกียจคิด แน่นอนว่าหากไม่พูดถึงระบบทุนนิยมเลยก็คงจะไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเรานั้นถูกวางกรอบให้เป็นไปตามวิถีทางแบบเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) โดยพฤติกรรมการบริโภคของเราทำให้กลายเป็นคนคิดเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่กลับละเลยโอกาสที่เราจะตัดสินใจในเรื่องสำคัญของชีวิต เรื่องใหญ่ ๆ ในสังคมกลับถูกยกให้คนไม่กี่คนในสังคมเป็นตัดสินใจ และเป็นคนที่เราอาจจะไม่รู้จักชื่อหรือเห็นหน้าเลยด้วยซ้ำ

ยกตัวให้เห็นภาพจากสถานการณ์ในขณะนี้ นั่นคือ ความน่ากลัวของวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยการเสพติดการบริโภค กอปรกับสัญชาตญาณมนุษย์ที่มองว่าการเป็นผู้ตามนั้นเป็นเรื่องสบายตัวทำให้ความคิดคนเราหดเล็กลงเป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็กจิ๋วในสังคม มองหาความสุขในชีวิตจากความตื่นเต้นเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการตัดสินใจว่าเราจะเลือกซื้อโทรศัพท์ใหม่สีอะไรดี แต่ปัญหาที่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิดอย่างราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น หรือวิกฤตการณ์การขาดแคลนอาหารทั่วโลก เรื่องเหล่านี้กลายเป็นปัญหาไกลตัวตั้งแต่เมื่อไหร่กัน? เราเองก็ไม่ได้อยากอาศัยในโลกที่มีเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้าแต่กลับมีคนล้มตายมากมายเพราะไม่มีจะกินไม่ใช่หรือ เราเองก็ไม่ได้อยากอาศัยในโลกที่ราคาน้ำมันผันผวนไปตามกำไรขาดทุนของเงินในกำมือมหาเศรษฐีไม่กี่คนไม่ใช่หรือ ทำไมกำไรขาดทุนของคนไม่กี่คนถึงกลายเป็นปัญหาของคนทั่วโลกล่ะ? คำถามเหล่านี้ถูกเบี่ยงเบนไปจากความสนใจของคนในสังคม นี่แหล่ะคือความน่ากลัวของความเกียจคร้านที่ถูกหล่อหลอมขึ้นในสถาบันเชิงโครงสร้างของสังคม

ในส่วนถัดมาก็มา ผู้เขียนก็ได้พาไปดูเรื่อง ‘การอบรมเลี้ยงดู’ เราคิดว่าส่วนนี้เองนี่แหละได้ให้ข้อคิดต่อผู้อ่านต่อเรื่อง Coming Of Age ได้เห็นภาพมากที่สุด แนวคิดของนักปรัชญาที่เราชอบซึ่งถูกหยิบยกว่าอภิปรายในส่วนนี้ก็คือ ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ผ่านงานเขียนที่ชื่อว่า Emile หรือ On Education ซึ่งจะเขียนเกี่ยวกับการเลี้ยงดูและการให้การศึกษาแก่เด็กคนนึงตามอุดมคติของรุสโซ

ประเด็นที่ชอบมากที่สุดในพาร์ทของการเลี้ยงดูคือการเล่าถึงโรงเรียน แน่นอนว่าผู้เขียนได้หยิบยกงานเขียนของรุสโซประกอบขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น แต่ใจความสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า ความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ของเหล่าผู้ปกครองคือการส่งลูกเข้าระบบการศึกษาในโรงเรียน โดยในจุดนี้เองผู้เขียนไม่ได้บอกว่าให้เราเลิกไปโรงเรียนกันเถอะ แต่ต้องการที่จะหยิบยกข้อถกเถียงให้เห็นว่าระบบการศึกษานั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่กำหนดคุณค่าของมนุษย์เสมอไป หนำซ้ำระบบการศึกษาเองก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือเชิงสถาบันในการบีบบังคับให้มนุษย์เราขี้เกียจคิด เราจะเห็นได้ว่าเด็กในช่วงวัยกำลังเติบโตนั้นมักเกิดคำถามต่าง ๆ มากมายต่อโลกที่เขากำลังสำรวจ หลายครั้งหลายคราเด็กมักถามถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในสังคมที่อาจดูผิดแปลกหรือบางครั้งอาจดูตลกในสายตาผู้ใหญ่ และมักได้คำตอบคล้าย ๆ กันคือ ‘เมื่อหนูเข้าโรงเรียนแล้วก็จะรู้เอง’ นั่นคือ การส่งเด็กเข้าไปในโรงเรียนนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากการโยนเด็กเข้าสู่โรงงานที่จะคอยผลิตคนที่ความคิดที่มีระเบียบแบบแผนไปในทิศทางเดียวกัน กลายเป็นว่าคำถามหนึ่งคำถามนั้นจะเหลือเพียงคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งงเดียวเท่านั้น ความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการหาคำตอบของชีวิตถูกตัดทิ้งไปจนหมดสิ้น และนั่นก็เป็นอีกจุดเริ่มต้นนึงของความเกียจคร้านในการคิดของคนเราและนำไปสู่การถดถอยของศักยภาพในการคิดของมนุษย์ ดังนั้นทางแก้ของระบบการศึกซึ่งจะถูกเสนอให้เห็นผ่านงานเขียนของรุสโซก็คือ การยึดความก้าวหน้าและพัฒนาการทางความคิดของเด็กเป็นหลัก ไม่ใช่ตัวระเบียบแบบแผนของการสอนนั่นเอง

นอกจากนี้ งานเขียนของรุสโซก็ได้สะท้อนให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่ง นั่นคือ ความเดือดดาลของวัยหนุ่มสาวที่ผิดหวังต่อโลกที่เป็นอยู่ กล่าวคือ งานเขียนเรื่อง Emile นั้น (ซึ่งเรามองว่าเป็นงาน Thought Experiment) เป็นงานที่สะท้อนความคิดของรุสโซที่เขาเองก็ผิดหวังกับระบบการศึกษา ระบบการเลี้ยงดู งานของเขาเป็นความคิดที่ต้องการรื้อสร้างโลกที่เป็นอยู่อย่างสุดขั้ว เพราะเขามองว่าการเลี้ยงดูเด็กในยุคของเขานั้นไม่อาจสร้างโลกที่เป็นเหตุเป็นผลได้ ระบบสังคมพยายามสร้างให้คนคิดแบบเดียวกันนั้นทำให้ปัญหาหลายอย่างถูกตอบรับเพียงแค่ว่า “โลกมันก็เป็นไปในแบบที่มันเป็นแบบนี้นี่แหละ” เมื่อความสร้างสรรค์ในการคำนึงถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ กลับถูกตอบรับด้วยคำตอบแบบกำปั้นทุบดิน ความผิดหวังและความเดือดดาลจึงปะทุขึ้นในวัยหนุ่มสาว

แต่กระนั้นแล้ว นานวันเข้าอุดมการณ์อันแรงกล้าของใครหลายคนก็อาจมอดดับลงระหว่างทางหลังเผชิญหน้ากับช่องว่างระหว่าง สิ่งที่เป็น และ สิ่งที่พึงเป็น อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเราไม่อาจตอบคำถามได้ว่าการต่อสู้อันยาวนานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ได้มาซึ่ง ‘สิ่งที่ควรจะเป็น’ นี้เองจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และบางครั้งก็อาจยาวนานจนทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนสติจะแตก เกิดเป็นปฏิกิริยาตอบกลับต่อการประสบกับช่องว่างนี้เอง ซึ่งมีทั้งคที่เลือกที่จะละทิ้งอุดมการณ์นั้นเพราะอับอายและเลิกใส่ใจแง่มุมของโลกที่พึงเป็น อยู่กับภาพมายาของโลกโดยละเลยปัญหาอย่างอ้อยอิ่งและน้อมรับว่าโลกมันเป็นของมันแบบนี้อยู่แล้ว หรือคนที่ยังคงเลือกที่จะไล่ตามอุดมการณ์ และเผชิญหน้ากับความจริงที่เน่าเฟะของสังคมอย่างบ้าคลั่ง

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ไม่ได้บอกว่าให้เราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่กลับบอกว่า การเติบโตนั้นก็คือความกล้าหาญที่เราเลือกที่จะยอมรับว่า โลกก็ดำเนินไปอย่างที่มันเป็นไป แต่มันแทบไม่เหมือนกับสิ่งที่คาดหวังไว้ และหลายครั้งเราเองก็ไม่อาจเข้ากันกับโลกได้ด้วยซ้ำ ดังนั้น การเผชิญหน้ากับช่องว่างระหว่าง สิ่งที่เป็น และ สิ่งที่พึงเป็น โดยไม่ยึดติดกับอุดมการณ์ว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง หรือละทิ้งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ซึ่งเป็นศักยภาพของเราที่มีมาแต่กำเนิดจนหมดสิ้นนั้นจึงน่าจะเป็นเป้าหมายของการเติบโตอย่างไม่เจ็บปวด

และส่วนสุดท้ายนี้ ผู้เขียนก็ปิดด้วยการพูดถึง ‘วัยชรา’ ซึ่งเป็นเหมือนการบั้นปลายของชีวิตที่คนเรามักกลับไปไตร่ตรองถึงช่องว่างระหว่าง สิ่งที่เป็น และ สิ่งที่พึงเป็น โดยผู้เขียนได้เสนอถึงเรื่อง โศกนาฏกรรมของความแก่ชรา ผ่านนักปรัชญาอย่าง ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่มนุษย์ไม่อาจสรรหาแรงจูงใจที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้อีก หลายคนอาจมองว่าความยากจนเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนวัยชราหลายคนยอมพ่ายต่อการใช้ชีวิตอย่างมีสีสันต่อไปในช่วงบั้นปลายชีวิต แต่แท้จริงแล้วสาเหตุของโศกนาฏกรรมในครั้งนี้กลับเลวร้ายกว่าที่คาดคิดไว้ นั่นคือ “สังคมไม่อาจสร้างโลกให้ผู้คนมีที่ทางสำหรับการเติบโตได้” เพราะโลกที่เราประสบพบเจอตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว หรือวัยก้าวผ่านก็ล้วนแต่เป็นโลกที่ไร้ซึ่งความเป็นเหตุเป็นผล เราไม่อาจรับมือกับช่องว่างระหว่าง สิ่งที่เป็น และ สิ่งที่พึงเป็น เราเอาแต่ไล่ตามสิ่งใดสิ่งหนึ่งดังที่กล่าวในข้างต้น ดังนั้น บางครั้งเราอาจจะช่วยกระตุ้นแรงปรารถนาในการใช้ชีวิตของมนุษย์ด้วยความพยายามที่จะทำบางสิ่งบางอย่างในแต่วันเพื่ออุทิศให้แก่สังคมให้สามารถกระเถิบเข้าใกล้ โลกที่พึงเป็น อีกสักนิด โดยที่เราเองก็ตระหนักไปพร้อมกันว่าจริง ๆ แล้วโลกเองมันก็ไปในแบบใดด้วยเช่นกัน

สุดท้ายนี้ก็ขอปิดท้ายด้วยข้อความอีกส่วนหนึ่งที่เขียนต่อจากโควตในตอนต้น ว่า…

การเติบโตคือเรื่องของการเคารพการประกอบขึ้นมาเป็นเราทั้งคู่นั่นแหละ และเผชิญหน้ากับให้ได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยรู้ว่าเราไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งหมด แต่ไม่ยอมพ่ายให้กับความเชื่องมงายหรือความสิ้นหวังใด

ปล. ตอนนี้ไม่มีพาร์ท #ชวนอ่าน แต่อยากชวนคนอ่านลองกลับไปนึกถึงช่องว่าง “สิ่งที่พึงจะเป็น” กับ “สิ่งที่เป็นอยู่” ในชีวิต ลองใช้เวลาอยู่กับตัวเองและโอบรับตัวตนของตัวเองอย่างกล้าหาญกัน ;-)

--

--

guavalin
guavalin

Written by guavalin

(she/they) an IR undergraduate trying to find some motivation to read more books

No responses yet