GuavaRead 01; Economics: The User’s Guide by Ha-Joon Chang (แปลโดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร)
“แต่ในโลกของความจริงนั้นแทบจะไม่มีตลาดแข่งขันที่เป็นธรรม ตลาดกลายเป็นเครื่องมือของคนที่รวยกว่าหรือมีอำนาจมากกว่า”
หลังจากที่ผ่านสมรภูมิเปเปอร์ช่วงไฟนอลมาได้ ในฐานะนิสิตที่กำลังจะเข้าภาคปีหน้าแต่สอบตกเรื่อง time management เราจึงเริ่มลิสต์หนังสือสำหรับการปรับนิสัยตัวเองให้อ่านหนังสือบ่อยขึ้น และเล่มนี้ก็เป็นเล่มแรกที่เราเลือกหยิบมาอ่าน
Why i read this book?
— เพราะเราสนใจเศรษฐศาสตร์ แต่เราไม่ชอบการวิเคราะห์กราฟหรือข้อมูลสถิติที่มองมนุษย์คนหนึ่งเป็นเพียงตัวเลขอย่างไร้ชีวิตจิตใจ และเราก็ไม่ชอบระบบทุนนิยม
ก่อนหน้านี้เราได้เรียนทั้งวิชาในคณะและวิชาชีวิตที่สอนบทเรียนเรื่องความเหลื่อมล้ำมามากพอสมควร และเริ่มเข็ดขยาดกับการใช้ชีวิตในโลกทุนนิยม แต่เมื่อได้มีโอกาสอ่าน ‘เศรษฐศาสตร์สามสี: เศรษฐศาสตร์แห่งอนาคต’ โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายในรูปแบบของระบบเศรษฐกิจ ความรู้สึกหลังอ่านนั้นเหมือนได้ยินเสียงกระซิบบอกเป็นนัยว่า ถ้าเจ้าไม่ชอบ Mainstream IR ฉันใด เจ้าก็จะไม่ชอบ Orthodox Economics ฉันนั้น
เราเริ่มสนใจสิ่งที่เรียกว่า ‘กระแสรอง’ ในวิชาเศรษฐศาสตร์ และได้เจอหนังสือเล่มนี้ที่มีข้อความเขียนบนปกหลังว่า “เป็นคัมภีร์ที่เปิดโลกความคิดทางเศรษฐศาตร์อันหลากหลายและท้าทายแนวคิดกระแสหลัก” และเราก็รู้สึกว่า นี่แหละ! หนังสือเศรษฐศาสตร์ที่เราตามหา
Why you should too?
— เพราะหนังสือเล่มนี้สอนให้ผู้อ่านรู้จักการเปิดใจและการยอมรับในความหลากหลายทางความคิด หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การกล่าวโจมตีข้อเสียของแนวคิดกระแสหลัก (ในที่นี้หมายถึงสำนัก Neoclassic) เท่านั้น แต่กลับเสนอให้เห็นว่าสำนักคิดอื่น ๆ อีก 8 สำนักมีข้อดีและข้อบกพร่องที่แตกต่างกันไป เนื่องจากในโลกความเป็นจริงนั้นสังคมมนุษย์มีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะตีความผ่านตัวเลขหรือแบบจำลองที่ตายตัวได้ เราไม่สามารถเลือกหยิบแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งมาเป็นสิ่งเดียวที่จะใช้อธิบายวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมมนุษย์ทุกคน และแม้ว่าเศรษฐศาสตร์จะนำเรื่องของสถิติและข้อมูลที่เป็นตัวเลขมาใช้ในการอธิบายเรื่องต่าง ๆ แต่เศรษฐศาสตร์นั้นไม่มีทางเป็นสิ่งที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์” สุดท้ายแล้วเศรษฐศาสตร์ย่อมเป็นศาสตร์หนึ่งที่มีการตัดสินเชิงคุณค่า หรือมีการตัดสินที่มีเรื่องความชื่นชอบเข้ามาเกี่ยวข้องนั่นเอง
ระบบเศรษฐกิจไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องการเงินหรือกลไกตลาด โดย concept ตัวเลขในชีวิตจริง ที่ผู้เขียนพยายามสื่อสารอย่างหนักแน่นในเนื้อหาส่วนที่สองของเล่ม เป็นสิ่งชี้ชัดถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างระบบเศรษฐกิจกับความซับซ้อนของประเด็นทางสังคมว่าสองสิ่งนี้ไม่มีวันแยกออกจากกันได้ แน่นอนว่าบทที่เราที่ชอบที่สุดควรจะเป็น ‘แพะของบอริสสมควรตาย’ ที่พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำและความยากจน (เรื่องราวที่มาของชื่อบทน่าสนใจมากว่าทำไมแพะถึงสมควรตาย อยากให้ทุกคนไปลองอ่านดู) แต่เมื่ออ่านจบแล้ว บทที่เราประทับใจมากที่สุดกลับเป็นบทถัดมา นั่นคือ ‘ผมรู้จักคนที่ทำงานทำการอยู่ไม่กี่คน’ ที่พูดถึงเรื่องการทำงานกับการว่างงาน คุณรู้หรือไม่ว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างเนเธอแลนด์นั้นเป็นประเทศที่ “ขี้เกียจ”กว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างเม็กซิโก!
นอกจากนี้ ในส่วนที่ยังไม่ได้พูดถึงอย่างส่วนต้นของหนังสือนั้นจะเน้นเรื่องการแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 9 สำนัก และหากผู้ใดสนใจการก่อร่างสร้างตัวของต้นแบบระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกอย่างอังกฤษ และสหรัฐฯ ผู้เขียนก็ได้บรรยายไว้อย่างน่าสนใจ โดยเราในฐานะผู้อ่านสามารถจะสรุปไว้สั้น ๆ ว่า “ตลาดเสรีไม่มีอยู่จริง” (ซึ่งอ่านไปสักพักก็จะรู้ว่านี่แหละคือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะบอก และแอบมีการขายหนังสือเล่มอื่นของตัวเองอีกด้วย)
อย่างไรก็ดี การบอกให้รู้จักยอมรับความหลากหลายของทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้แปลว่าเราในฐานะผู้อ่านจะต้องยอมศิโรราบให้แก่ระบบเศรษฐกิจแบบ “หนึ่งบาทต่อหนึ่งเสียง” (ในหนังสือใช้สกุลเงินว่าดอลลาร์) ซึ่งมีอิทธิพลจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แต่หนังสือเล่มนี้กำลังบอกผู้อ่านทุกคนว่า แม้การต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นจะลำบากยากเย็น แต่เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้มีระบบเศรษฐกิจที่มีความเท่าเทียมมากขึ้นกว่านี้ได้ หากคนในสังคมหันมาเป็น “พลเมืองทางเศรษฐกิจที่แข็งขัน” (active economic citizen) และตระหนักรู้ร่วมกันว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน มิใช่เป็นเรื่องของนักลงทุนหรือเป็นเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์ตามที่เขาหลอกลวง
“Pessimism of the intellect, optimism of the will.” — Antonio Gramsci
#ชวนอ่าน
- ทำความรู้จักกับ International Relations ผ่านบทความ “ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” ให้สัมภาษณ์โดย จิตติภัทร พูนขำ https://www.the101.world/international-relations-must-survive-post/
- ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำจากกระแสโลกาภิวัตน์ ผ่าน “Distributional Effects of Globalization in Developing Countries” โดย Pinelopi Koujianou Goldberg และ Nina Pavcnik https://www.nber.org/papers/w12885 หรือ บทความ “Do Globalisation and World Trade Fuel Inequality?” โดย Jeffrey Frankel https://www.theguardian.com/business/2018/jan/02/do-globalisation-and-world-trade-fuel-inequality
- ชั่วโมงแรงงานที่หายไปของผู้หญิง ผ่าน “What Is Social Reproduction Theory?” โดย Tithi Bhattacharya https://socialistworker.org/2013/09/10/what-is-social-reproduction-theory